เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [54. กัจจายนวรรค] 3. มหากัปปินเถราปทาน
[62] ในกัปที่ 100,000 นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ทำกรรมไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[63] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[64] การที่ข้าพเจ้ามาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา 3 ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[65] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8
และอภิญญา 6 ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระวักกลิเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
วักกลิเถราปทานที่ 2 จบ

3. มหากัปปินเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระมหากัปปินเถระ
(พระมหากัปปินเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[66] พระชินเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้ทรงถึงความสำเร็จแห่งธรรมทั้งปวง
ทรงปรากฏแล้วในอากาศทั้งสิ้น
เหมือนดวงอาทิตย์ปรากฏในท้องฟ้าในสารทกาล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :246 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [54. กัจจายนวรรค] 3. มหากัปปินเถราปทาน
[67] ทรงทำดอกบัวคือเวไนยสัตว์ให้เบ่งบานด้วยพระรัศมีคือพระดำรัส
พระผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลกพระองค์นั้น
ทรงทำเปือกตมคือกิเลสให้แห้งไปด้วยพระรัศมีคือปัญญา
[68] พระผู้ทรงวชิรญาณขจัดยศของพวกเดียรถีย์
เหมือนดวงอาทิตย์
พระทิวากรพุทธเจ้าทรงส่องสว่าง
ทั้งกลางวันและกลางคืน ในที่ทุกแห่ง
[69] พระพุทธองค์เป็นบ่อเกิดแห่งคุณ
เหมือนทะเลเป็นบ่อเกิดแห่งรัตนะ
ทรงทำเมฆฝนคือธรรมให้ตกลงเพื่อหมู่สัตว์
เหมือนเมฆทำฝนให้ตก
[70] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นผู้พิพากษาอยู่ในกรุงหงสวดี
ได้เข้าไปฟังธรรมของพระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
[71] ซึ่งกำลังประกาศคุณของสาวกผู้มีสติ
ผู้กล่าวสอนภิกษุทั้งหลายอยู่ ทรงทำใจของข้าพเจ้าให้ยินดี
[72] ข้าพเจ้าได้ฟังแล้วเกิดปีติโสมนัส
ทูลนิมนต์พระตถาคตพร้อมด้วยสาวกให้เสวยและฉันแล้ว
ปรารถนาตำแหน่งนั้น
[73] ครั้งนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้มีส่วนเปรียบด้วยหงส์
มีพระสุรเสียงเหมือนเสียงหงส์และเสียงมโหระทึก1
ได้ตรัสว่า จงดูมหาอำมาตย์ผู้นี้ ผู้องอาจในการตัดสิน
[74] ซึ่งหมอบอยู่แทบเท้าของเรา
มีโลมชาติชูชันและมีใจฟูขึ้น

เชิงอรรถ :
1 มโหระทึก หมายถึงกลองโลหะชนิดหนึ่งของชนชาติที่อยู่ตอนใต้ประเทศจีน ใช้ตีเป็นสัญญาณและประโคม
(พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน, พ.ศ. 2525, น. 635)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :247 }